รากฐานการพัฒนาหลักสูตรพลศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีน สู่การเป็นมหาอำนาจทางการกีฬาของเอเชียและของโลก
"การแข่งขันกีฬารายการใหญ่ที่มีตัวแทนนักกีฬาจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมชิงชัยไม่ว่าจะเป็นเอเชี่ยนเกมส์หรือโอลิมปิก เราจะเห็นนักกีฬาจากประเทศจีนสามารถคว้าเหรียญทองมาครอบครองอย่างเป็นกอบเป็นกำรั้งตำแหน่งเจ้าเหรียญทองของเอเชียและลำดับต้นๆ ของโลก ว่ากันว่าปัจจัยที่ทำให้นักกีฬาของจีนมีความสามารถโดดเด่นเหนือนักกีฬาชาติอื่นๆนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานด้านกีฬาให้กับเยาวชนจีนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ผ่านวิชาพลศึกษา (Physical Education) ที่กำหนดให้เป็นวิชาบังคับตั้งแต่ระดับชั้นประถมจนถึงระดับอุดมศึกษา"
'พลศึกษา' วาระแห่งชาติ
ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการกีฬามาตั้งแต่สมัยที่ประธานเหมา เจ๋อ ตง เริ่มก่อตั้ง "สาธารณรัฐประชาชนจีน"ใหม่ๆ ในปี พ.ศ.2494 จีนกำหนดให้สถานศึกษาทุกระดับชั้นให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิชาอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ของจีนเติบโตมามีร่างกายแข็งแรง อันจะนำไปสู่การประสบผลสำเร็จในการเรียนและการทำสิ่งต่างๆ
ต่อมาในปี พ.ศ.2533 สภาแห่งชาติของจีนได้ออกประกาศ "กฎเกณฑ์การจัดการพลศึกษาในสถานศึกษา" (The Operational Rules on Physical Education in Educational Institutions) ที่บังคับใช้กับโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทุกแห่งของจีน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในสถานศึกษาไว้ดังนี้
* ส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้เรียน
* ปรับปรุงสมรรถภาพทางร่างกายของผู้เรียน
* ให้ความรู้พื้นฐานทางพลศึกษาและพัฒนานิสัยที่ดีในการออกกำลังกาย
* ยกระดับความสามารถทางการกีฬา และเสริมสร้างพรสวรรค์ด้านกีฬาของผู้เรียน
* พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ช่วยให้เกิดวินัย ความกล้าหาญ และความก้าวหน้า
จากนโยบายข้างต้นส่งผลให้นักเรียน นักศึกษาจีนทุกคนต้องเรียนวิชาพลศึกษาเป็นวิชาบังคับ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมจนถึงอุดมศึกษา โดยเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง ยกเว้นในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไปให้เป็นวิชาเลือก และต้องเข้าเรียนวิชาพลศึกษาไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของเวลาที่บังคับให้เรียน มิฉะนั้นจะไม่ได้รับการรับรองคุณสมบัติระดับชาติด้านพลศึกษา (The National Standards for Qualification of Students in Physical Education) ซึ่งถ้าไม่มีวุฒิบัตรรับรองคุณสมบัติดังกล่าว นักเรียน นักศึกษาผู้นั้นจะไม่สามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป แม้ว่าจะผ่านวิชาอื่นๆ ครบถ้วนตามหลักสูตรก็ตาม และเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนยังกำหนดให้การทดสอบวิชาพลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วย เพื่อให้นักเรียนใส่ใจเรียนพลศึกษาอย่างจริงจัง
ไม่เพียงเท่านั้น ทางการจีนยังเรียกร้องให้สถานศึกษาดูแลให้นักเรียนได้ออกกำลังกายที่โรงเรียนอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง (รวมชั่วโมงพลศึกษา) ส่งผลให้สถานศึกษาของจีนจำนวนไม่น้อยกำหนดให้นักเรียนทำกิจกรรมกายบริหารในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนและระหว่างชั่วโมงเรียน ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาทุกวัน เพื่อให้บรรลุผลตามภารกิจหลักของวิชาพลศึกษาที่รัฐกำหนดไว้
การเรียนการสอนพลศึกษาในสถานศึกษาของจีนมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเน้นที่ภาคปฏิบัติมากเป็นพิเศษ เนื้อหาประกอบด้วยความรู้พื้นฐานด้านพลศึกษาและสุขศึกษา การแข่งขันกีฬาและกรีฑาประเภทต่างๆ ยิมนาสติก ยิมนาสติกประกอบการแสดง และการฝึกสมรรถภาพร่างกาย ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของการเรียนการสอนในชั้นเรียนในวิชาพลศึกษา กิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตร การฝึกซ้อมหลังเลิกเรียน และการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ
โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วยหลักสูตรจากส่วนกลางและหลักสูตรท้องถิ่น เนื่องจากประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ ในแต่ละพื้นที่จะมีประเพณี วัฒนธรรม และกีฬาการละเล่นท้องถิ่นแตกต่างกันไป รวมถึงสภาพภูมิอากาศและลักษณะเฉพาะของพื้นที่แต่ละแห่งที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมพลศึกษาแตกต่างกัน อาทิ กีฬาว่ายน้ำและสเก็ตไม่จัดอยู่ในหลักสูตรจากส่วนกลาง เพราะเป็นกีฬาที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและฤดูกาล โดยในระดับการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.3 กำหนดสัดส่วนของหลักสูตรแกนกลางต่อหลักสูตรท้องถิ่นเป็น 70: 30 และตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปลายขึ้นไปปรับสัดส่วนเป็น 50: 50 เพื่อส่งเสริมกิจกรรมกีฬาและการละเล่นที่สอดคล้องกับประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ในส่วนของรายละเอียดเนื้อหานั้น การเรียนการสอนพลศึกษาในสถานศึกษาของจีนจะผสมผสานระหว่างพลศึกษาและสุขศึกษาไว้ด้วยกัน โดยในส่วนพลศึกษาจะมุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะด้านกีฬาชนิดต่างๆ พัฒนาบุคลิกภาพ ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และปลูกฝังนิสัยรักการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ส่วนด้านสุขศึกษาจะมุ่งให้ความรู้แก่นักเรียนในการดูแลสุขภาพและสร้างสุขนิสัย เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยที่พบบ่อยในนักเรียนของจีนในอดีต อาทิ สายตาสั้น ฟันผุ การขาดสารอาหาร และภาวะโลหิตจาง โดยกำหนดให้นักเรียนในระดับชั้น ป.1-ม.3 ต้องเรียนเนื้อหาด้านสุขศึกษาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงใน 2 สัปดาห์ ด้านการจัดกิจกรรมพลศึกษาจะคำนึงถึงวัยหรือระดับชั้นของผู้เรียนเป็นสำคัญ ในเด็กประถมจะเน้นเรื่องการออกกำลังกาย ทำกายบริหาร และการเล่นกีฬาที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมกีฬาที่เล่นเป็นทีมหรือกลุ่มเล็กๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านมนุษย์สัมพันธ์ ความร่วมมือ การทำงานกลุ่ม ความกระตือรือร้น และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ส่วนในระดับมัธยมขึ้นไปจะเน้นกิจกรรมกีฬาที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามความถนัดของนักเรียนแต่ละคน
นอกจากการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาแล้ว สถานศึกษาของจีนยังต้องจัดกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการด้านพลศึกษาในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนได้รับอิสระในการกำหนดกิจกรรมตามความเหมาะสมของท้องถิ่น บนพื้นฐานภารกิจของการพลศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้ออกกำลังกายและมีสุขภาพกายใจแข็งแรง นับเป็นกิจกรรมที่มีสีสันและได้รับความสนใจจากนักเรียนไม่น้อย อาทิ กิจกรรมเพาะกาย เต้นรำ ขี่จักรยาน ปีนเขา และกีฬาท้องถิ่น โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรงเรียนชนบทหลายแห่งของจีนได้จัดกิจกรรมเดินทางไกลขึ้น โดยพานักเรียนออกเดินศึกษาธรรมชาติในท้องถิ่น ผ่านส่วนที่เป็นชุมชนบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และป่าไม้ ซึ่งไม่เพียงเป็นการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังได้ศึกษาสภาพภูมิประเทศของท้องถิ่นที่อยู่ไปพร้อมกันด้ว
ช่องทางปั้นนักกีฬาทีมชาติ
ภารกิจหนึ่งในการจัดกิจกรรมพลศึกษาในสถานศึกษาของจีน และถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่งคือการเสาะหาผู้มีความสามารถด้านกีฬา เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพหรือนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งทางการจีนให้ความสำคัญสูงสุดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะเห็นได้จากจำนวนโรงเรียนกีฬาของจีนที่มีมากกว่า 3,000แห่งทั่วประเทศ
ผู้ที่เป็นครูพลศึกษาในโรงเรียนจะต้องกระตุ้นให้นักเรียนแต่ละคนแสดงความสามารถด้านกีฬาออกมา อาจจะผ่านกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายในชั้นเรียน ระดับชั้น หรือระดับโรงเรียน เพื่อสำรวจหาแววนักกีฬาในตัวนักเรียนแต่ละคน นักเรียนคนใดที่มีความสามารถหรือมีรูปร่างเหมาะสมกับกีฬาชนิดใด เช่น เด็กที่มีรูปร่างเล็ก สะโพกเรียว แขนขายืดหยุ่นได้ดีเหมาะจะเป็นนักกีฬายิมนาสติกหรือกระโดดน้ำ เด็กที่มีความว่องไวเหมาะจะเป็นนักวิ่งหรือปิงปอง เป็นต้น เด็กเหล่านี้จะถูกนำมาฝึกฝนเพิ่มเติมหลังเลิกเรียน เพื่อพัฒนาไปเป็นนักกีฬาของโรงเรียนและเข้ารับการฝึกฝนพัฒนาสมรรถภาพด้านกีฬาอย่างเต็มรูปแบบในโรงเรียนกีฬาของจีนต่อไป
นอกเหนือไปจากกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียน ระหว่างโรงเรียน และในระดับท้องถิ่นแล้ว ทางการจีนยังจัดให้มีการแข่งขันกีฬาของนักเรียนและนักศึกษาในระดับประเทศด้วย โดยการแข่งขันกีฬาโรงเรียนแห่งชาติจะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 3 ปี และกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติจะจัดขึ้นในทุก 4 ปี เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนด้านพลศึกษาอย่างจริงจัง และการแข่งขันกีฬาระดับต่างๆ เหล่านี้นี่เองที่เป็นช่องทางสรรหานักกีฬาทีมชาติ ที่จะเป็นตัวแทนประเทศจีนไปชิงชัยเหรียญทองในการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ ระดับนานาชาติต่อไป
ผมได้ศึกษาเรื่องนี้แล้วทำให้ได้แง่คิดมุมมองต่างๆ ในการพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันการพลศึกษา การรู้เขา-รู้เรา หรือการศึกษาต้นแบบที่ดีและเห็นผลในทางปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องนำมาศึกษาเพื่อเป็นแนวทาง จึงน่าที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน หรือการจัดกิจกรรมทางพลศึกษา เชื่อแน่ว่าน่าจะเกิดผลดีนะครับ..
ที่มา : http://onzonde.multiply.com/journal/item/231/231....